มัวแต่นั่งคอยรอ
หวังว่าทุกอย่างจะพอดี
ไม่มีที่ไหนพร้อม
********************
หวังว่าทุกอย่างจะพอดี
ไม่มีที่ไหนพร้อม
********************
วันหนึ่งไม่นานมา ระหว่างการติดตามความคืบหน้าในงานที่มอบหมายไว้ ทีมงานของผมอ้างถึง "ความไม่พร้อม" เป็นนัยๆ ถึงความล่าช้าที่ปรากฏ ทำให้ต้องย้อนกลับมามองว่าสิ่งที่ไม่พร้อมนั้น มันจริงหรือไม่อย่างไร
ประเด็นแรกเลย คือถ้าทุกอย่าง "พร้อม" แล้วจะทำงานได้สำเร็จตามที่คิดหรือไม่ หรือแค่เป็นเพียงความคาดหวังว่า ถ้าทุกอย่างมันพร้อม เราก็เดินไปกดสวิทช์ให้มันทำงานได้อัตโนมัติ มันจะไม่มีอุปสรรคอื่นๆ เลยหรือไร เรามีแผนสองที่จะรับมือการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดอย่างไรบ้าง
ถัดมาเป็นมุมมองต่อความพร้อมนั้นๆ ว่า คนสองคนจะมีระดับ "ความต้องการ" ความพร้อมนั้นเท่าไร พ่อครัวคนแรกอาจจะมองว่า แค่วัตถุดิบครบก็พร้อมที่จะปรุงอาหารรสเลิศแล้ว ในขณะที่อีกคนต้องรอปัจจัยเสริมอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งสองคนนี้ไม่มีใครผิดที่จะคิด อยู่ที่ผลลัพธ์สุดท้ายใครจะตอบโจทย์ได้ดีกว่ากันเท่านั้น
เวลาก็เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่บ่งบอกถึงความพร้อม ลูกค้าหลายๆ รายไม่เข้าใจในประเด็นนี้ มักจะคาดหวังว่าผลงานที่ใช้เวลา 5 วันต้องดีกว่าหรือเท่ากับงานที่มีเส้นตายแค่ 3 ชั่วโมง ส่งผลให้เกิดความขัดเคืองที่ไม่ได้ดั่งใจ ซึ่งหลายครั้งจำเป็นต้องชี้แจงอย่างหนักแน่นถึงคุณภาพที่สัมพันธ์กับเวลาอย่างนี้
สุดท้ายคงเป็นเรื่องมุมมองของ "วิกฤตและโอกาส" ซึ่งในความไม่พร้อมนั้น วิกฤตเป็นสิ่งที่คนทั่วไปย่อมเห็นแน่นอน แต่โอกาสล่ะ มีใครสังเกตและสามารถฉวยมันมาเป็นประโยชน์หรือไม่ ตัวอย่างที่คลาสสิคคือ องค์กรที่ไร้ผู้นำ คนส่วนใหญ่คิดว่าแย่แน่ๆ แต่โอกาสก็คือ คนทำงานระดับรองๆ ลงไป สามารถที่จะฉายแสงให้ตัวเองโดดเด่นขึ้นมาได้ หรือเป็นจังหวะที่จะได้ผู้นำที่สร้างสรรสิ่งใหม่ๆ ให้กับหน่วยงานเรา
มันเป็นเรื่องปกติที่ไม่มีอะไรพร้อม หรือสมบูรณ์ที่สุด ขึ้นกับว่ามุมมองหรือทัศนคติของเราจะมองเรื่องเหล่านี้ให้ "สร้างสรร" และพลิกกลับมาให้เป็นประโยชน์อย่างไร ขอให้ใจเย็นๆ ถอยออกมาสักก้าวแล้วลองมองดูอีกครั้งครับ