September 8, 2010

มองมุมเหม่ง > การศึกษาไทย ไปไหนกันดี (School Of Rock..Knock Out Thailand)

พ่อแม่ต่างรักลูก
มีทั้งถูกผูกผิดคิดกัน
รู้ทันหมั่นแก้ไข
**********************************

สัปดาห์ที่แล้วได้มีโอกาสเข้าพบและแสดงความยินดีกับท่านคณบดีคนใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ลาดกระบัง (ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์) ช่วงหนึ่งของการสนทนา ท่านขอให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบการศึกษาในมุมมองคนทำงาน ลูกจ้างมืออาชีพอย่างเราว่าคิดเห็นอย่างไร

เริ่มจากสมัยก่อน พ่อแม่จะเลือกโรงเรียนให้ลูกๆ จากชื่อเสียง (ความเก่าแก่ ศิษย์เก่า) หลักสูตร (เสริมภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็ก) หรือ สังคม (ลูกหลานเศรษฐี นักการเมือง ข้าราชการ) ทำให้จำกัดวงแค่ไม่กี่โรงเรียนเท่านั้น ซึ่งแม้ว่าตัวเด็กเองจะเอาอ่าว ไม่เอาถ่านอย่างไร ปัจจัยอื่นๆ ก็พอจะส่งเสริมให้ดำเนินชีวิตไปได้บ้างตามอัตภาพ และกรรมเก่า

ราวๆ 20 ปีให้หลัง ความขลังของภาษาอังกฤษเิิริ่มจางลงด้วยโลกที่เปิดกว้างขึ้น กับจำนวนผู้จบจากต่างประเทศที่เติบโตเป็นพ่อแม่ยุคใหม่ พร้อมกับแนวคิดการสร้างครอบครัวที่ต่างออกไปจากยุคพ่อแม่รุ่นแรก โดยมีลูกน้อยลง แต่ทุ่มเทและคัดสรรมากขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของคนรุ่นใหม่ ที่เน้นความสำเร็จจากการสร้างตนเอง ให้สายสัมพันธ์เป็นเรื่องรอง (เพราะใครๆ ก็ "เส้นหญ่ายยย" กันทุกคน)

ทำให้รูปแบบการเลือกโรงเรียนเดิมๆ กลายเป็น โรงเรียนนานาชาติ หรือหลักสูตร เอาเด็กเป็นศูนย์กลาง (Child Center) เริ่มมีภาษาที่ 3,4,5 มาประกอบให้เวียนหัวมากกว่าเดิม (ขอแทรกหน่อย - เรื่องการเีรียนภาษานั้น เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้ถึง 3-4 ภาษา ในเวลาเดียวกัน แต่ขึ้นกับการสอนและดูแลที่ถูกวิธีของพ่อแม่ด้วย) หรืออย่างภาษาจีนที่ยุคหนึ่ง เป็นเรื่องต้องห้าม แต่ปัจจุบันใครๆ ก็อยาก "หนีเห่า" กันทั้งนั้น

ต่อไปก็เป็นเรื่องการเปลี่่ยนแปลงของเทคโนโลยี สมัยก่อนที่ไอทียังเป็นเรื่องเดียวกับมนตรามายานั้น ใครใคร่จะหาความรู้อะไร ต้องไปห้องสมุด จมจ่อมกันทั้งวัน แต่สมัยนี้ แค่มีคอมฯ กับเน็ต และอากู๋กูเกิล เรื่องอะไรๆ ก็ง่ายไปซะทั้งหมด

แต่สิ่งที่มันชวนปวดหัวให้กับอาจารย์ๆ พ่อๆ แม่ๆ ในปัจจุบันคืออะไรล่ะครับ

อย่างแรกนั้น เนื่องจากเด็กสมัยนี้ต้องเรียนพร้อมๆ กันหลายภาษา แถมแต่ละหลักสูตรก็สร้างสรรกันพิศดารการตลาดขนาดนั้น ทำให้หลายๆ คนมี "พื้นฐาน" ที่ไม่แน่นพอ ครั้งหนึ่งพบว่า หลานของผมต้องไปเรียนพิเศษภาษาไทย เพราะไม่สามารถพูดและเขียนได้

เฮ้อ... ไม่น่าเชื่อ แต่เศร้า

ต่อมา ด้วย "ความไว" และ "ง่าย" ของโลกอินเตอร์เน็ต ทำให้เด็กสมัยนี้ ขาดการพินิจพิเคราะห์ถึงความถูกต้อง และความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่เห็น บวกกับความขี้เกียจที่มาจากความ "มักง่าย" ทำให้เกิดศิลปินคอลลาจที่ขาดความคิดสร้างสรร (Collage - การตัดต่อ ตัดแปะภาพ) โดยการคัดลอกเนื้อหาจากเว็บต่างๆ มาแปะๆ แล้วจัดหน้ากระดาษเพื่อทำเป็นรายงานส่งอาจารย์ และเป็นอีกครั้งครับ ที่มีโอกาสไปตรวจข้อสอบนักศึกษา (ป.ตรี ปีสุดท้าย) ได้เห็นเรียงความที่ ย่อหน้้าบนเป็น "นาย" ย่อหน้าท้ายใช้ "ค่ะ" ไม่นับที่เนื้อหาตีกันเองอีกต่างหาก

เฮ้อ... ไม่น่าเชื่อ แต่เศร้า

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมพบว่า เรื่องสายสัมพันธ์ หรือ โซ่สังคม ยังมีอยู่ในบ้านเรา ไปที่ไหนๆ ก็ยังได้ยิน (จบจากไหน คณะอะไร อ้าวพี่กัน น้องกันนี่หว่า) ซึ่งยังเห็นไม่ชัดจากเหล่าโรงเรียนนานาชาติ ที่น่าจะต้องใช้เวลาอีกสักพัก

หรือเราเองคงไปห้ามไม่ให้เทคโนโลยีหยุดพัฒนาได้ แต่ต้องเข้าใจถึงผลด้าน "บวก" และ "ลบ" เพื่อหาทางป้องกัน หรือเสริมภูมิต้านทานให้ลูกหลาน ในด้านการคิดวิเคราะห์ ความอดทน และภาพมุมกว้าง

ไม่ให้โทษได้ว่า "ก็พ่อแม่รังแกฉันไง" แง แง