
สภาวะน้ำท่วมปี 2554 ที่เรียกได้ว่า "มหาวิบัติ อุทกภัย" (ไม่ใช่ชื่อหนัง box office แต่มันคือชีวิตจริง) นั้นส่งผลกระทบและก่อนให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง เพียงแต่ถ้าผู้นำที่รับผิดชอบมีการบริหารจัดการ การสื่อสารที่ถูกต้อง เชื่อว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นคงไม่มากขนาดนี้
อย่างหนึ่งที่ค่อนข้างหงุดหงิด (นอกจากการแจ้งเหตุ และการวางแผนรับมือมวลน้ำ) คือมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ ไม่เป็นเอกภาพทั้งภาครัฐและเอกชนภาพที่เราได้เห็นผ่านทีวีคือ การที่หน่วยงานต่างๆ แห่กันไปยังพื้นที่บางพื้นที่ ล่องเรือแล้วก็แจกอาหาร ถุงยังชีพให้กับชาวบ้านที่เดิน (หรือว่ายน้ำ) ออกมาลอยคอรอรับกัน คำถามที่เกิดขึ้นคือ
1) มีชาวบ้านเท่าไรกันแน่ ที่ติดอยู่ตามบ้านเรือน ตามพื้นที่ต่างๆ และไม่สามารถออกมาได้
2) ชาวบ้านบริเวณไหนที่ได้รับการช่วยเหลือซ้ำซ้อน แต่ในบางพื้นที่ยังไม่ได้รับอะไรเลย
3) สิ่งที่ชาวบ้านเขาต้องการมากกว่า มาม่า อาหารแห้ง คืออะไรบ้าง ยารักษาโรค ฯลฯ
4) ผู้ประสบภัยจะสามารถติดต่อโลกภายนอกได้อย่างไรบ้าง
ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ มองในมิติการกระจายความช่วยเหลือ แต่ถ้ามองย้อนไปยังขั้นตอนการรับบริจาค การรวบรวมความช่วยเหลือจากผู้ที่มีจิตศรัทธาแล้ว ยังชวนหดหู่เป็นอย่างยิ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศเราไม่เคยเกิดปัญหาแบบนี้ (ต่างกันที่ความหนักเบา) แต่การแก้ไขก็เป็นอย่างขอไปที ซ้ำไปซ้ำมา
แล้วมันน่าจะทำอะไรได้ดีกว่าบ้าง
ก่อนที่น้ำท่วมจะมาถึง รัฐบาลควรมีการแจ้งเตือน สื่อสารกับประชาชน ถึงความเสี่ยงในระดับต่างๆ และแผนการรองรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมตัว และไม่ตื่นตระหนกเกินไป อย่าลืมว่า ความไม่รู้ นำไปสู่ความกลัว และกลายเป็นความโกลาหล (ทั้งการกักตุนอาหาร การแย่งที่จอดรถ การรวมกลุ่มทำลายคันกั้นน้ำ ฯลฯ)
และเมื่อน้ำมาแล้ว ผู้ประสบภัยเหล่านั้น ควรที่จะสามารถ “ลงทะเบียน” เพื่อยืนยันตำแหน่งที่อยู่ หรือเป็นช่องทางในการติดต่อกับภาครัฐ จะเป็นการโทรมาเพื่อแจ้ง, SMS หรือระบบยืนยันตำแหน่ง GPS
ทั้งนี้แล้ว ภาครัฐก็จะทราบจำนวนผู้ประสบภัยทั้งหมดได้ พร้อมทั้งสามารถวางแผนการช่วยเหลือได้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าว จะทำให้ทราบว่าแต่ละพื้นที่ มีความต้องการอะไรบ้าง เพื่อจัดเป็นศูนย์กลางของความช่วยเหลือ และบริหารจัดการสิ่งของต่างๆ ที่ได้รับบริจาคมาอย่างได้ประโยชน์ที่สุด
แล้วใครควรจะทำ และ ที่ว่ามาสามารถทำเลยได้ไหม
ว่ากันเรื่องเทคโนโลยีก่อน จากที่กล่าวมาไม่ใช่เรื่องซับซ้อนเลย ในภาวะที่เมืองไทยจะเป็นประเทศ 3G อีกไม่นาน เพราะทั้งโทรศัพท์ SMS, GPS เหล่านี้เป็นเรื่องพื้นๆ ไปแล้ว ปัญหาที่น่าปวดหัวคือ ใครจะเป็นเจ้าภาพ จะขอความร่วมมือจากกระทรวงต่างๆ (ไอซีที, มหาดไทย, สาธารณสุข ฯลฯ) ให้ประสานงานกันได้อย่างราบรื่นอย่างไร
ตราบใดที่เรายังมีผู้นำที่พร่องความสามารถเช่นนี้ ไอเดียที่ว่าก็คงเป็นเพียงความคิดลอยๆ เท่านั้น
น่าสงสารประเทศไทยเสียจริง