February 12, 2010

เรียนจากหนัง > Sympathy For Lady Vengence เธอฆ่าแบบชาติหน้าไม่ต้องเกิด (2005)


ไม่นานมานี้ได้อ่านบทความที่พูดถึง "หนังกะบะ" ซึ่งหมายถึงหนัง VCD, DVD ที่วางขายในกะบะเป็นแถวๆ ในห้างหรือร้านค้าทั่วไป ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นหนังเก่าๆ หรือหนัง "ขายพ่วง" มากับโปรแกรมหนังใหญ่ ที่บริษัทจัดจำหน่ายก็มาทำเป็นหนังแผ่น เพื่ออย่างน้อยจะได้เงินมาถัวๆ กันบ้าง

หลายๆ ครั้งผมพบว่า ในกะบะเหล่านี้ มีขุมทรัพย์ที่น่าสนใจ และหนังเรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ต้องบอกก่อนว่า หลังๆ นี้ นอกจากหนังฝรั่งซับไทยแล้ว ผมมักจะเลือกหนังเอเชีย (ญี่ปุ่น เกาหลี) ที่พากย์โดยทีมงานพันธมิตร เป็นความชอบส่วนตัวในเรื่องของมุข และน้ำเสียงที่ดูเมื่อไรฮาได้ทุกที

หนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในไตรภาค Old Boy ของผู้กำกับ ปาร์ค ชุน วุก ครับ มีสามเรื่องคือ Sympathy For MR. Vengeance (2002) , Oldboy (2003) และสุดท้าย Sympathy For Lady Vengeance (2005) เนื้อเรื่องแยกกัน แต่มีธีมร่วมกัน คือการล้างแค้น และความรุนแรง ซึ่งไม่เหมาะสำหรับเด็ก หรือผู้ใหญ่ที่ยังไม่มีวุฒิภาวะนะครับ

เนื้อเรื่องย่อๆ คือ กึมจา (ลี ยอง เอ) โดนจับฐานฆาตกรรมเด็กชายเล็กๆ คนหนึ่งอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญจากสื่อมวลชน เพราะด้วยหน้าตาที่สวยงามของเธอ เธอถูกลงโทษจำคุก 13 ปี ซึ่งหนังค่อยๆ เปิดปมทีละปมว่า เมื่อเธอพ้นคุกแล้ว เธอตั้งใจที่จะล้างแค้นใครคนหนึ่งที่เป็นต้นเหตุให้เธอต้องติดคุก และในที่สุดเธอก็หาคนๆ นี้เจอและได้ล้างแค้นสมใจหมาย

ลำพังเนื้อเรื่องเอง ถ้าเป็นอย่างที่เล่ามาคงไม่มีประเด็นอะไรให้พูดถึงมากนัก แต่ที่ผมคิดว่าน่าสนใจ คือรายละเอียด "ระหว่างทาง" ที่ผู้กำกับและคนเขียนบทใส่เข้ามา เช่น

ความมุ่งมั่นในการล้างแค้น - ทำให้เธอต้องสานสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมคุกต่างๆ ที่จะช่วยเธอได้ในอนาคต หรือผู้กำกับที่สามารถนำเสนอเรื่องของเธอให้กับคนข้างนอก

วิธีการล้างแค้น - ที่ผมแปลกใจและชอบในไอเดียคือ เมื่อเราเจอคนที่เราต้องการล้างแค้นแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะพิฆาตให้อาสัญ แต่สิ่งที่เธอเลือกคือ เธอให้พ่อแม่ของเด็กคนอื่นๆ ที่ถูกผู้ร้ายตัวจริงลักพาตัวและทรมาน มาร่วมในการพิพากษา และล้างแค้นร่วมกับเธอด้วย โดยให้ทุกคนได้ลงคะแนนเสียงว่าเลือกที่จะให้ฆาตกร "อยู่" หรือ "ตาย" อย่างไร และ ถ้าจะให้ "ตาย" จะให้ "ตาย" แบบไหน โดยให้แต่ละคนจับสลากเข้าไปล้างแค้นทีละคน


ที่โหดกว่านั้นคือ ระหว่างที่ประชุมเพื่อลงมติล้างแค้นนั้น เธอปล่อยให้การลงมติ ออกอากาศให้ฆาตกรที่ถูกมัดอีกห้องหนึ่งนั้นได้ยินทุกอย่างด้วย !!

และเธอไม่ลืมที่จะให้ตำรวจคนที่จับเธอ (แทนที่จะจับฆาตกรตัวจริง) มาเป็นสักขีพยานในการล้างแค้นด้วยอีกทางหนึ่ง

เมื่อการล้างแค้นเสร็จสิ้น ทุกคนก็ช่วยกันเก็บกวาด แล้วมาถ่ายรูปร่วมกัน เป็นที่ระทึก และมั่นใจว่าไม่มีใครเบี้ยวแน่นอน


นอกจากจะประทับใจการนำเสนอที่กล่าวไปแล้ว ผมสงสัยว่า ในชีวิตจริงของคนเรา มันจะแค้นหรือโกรธกันได้มากขนาดนี้เชียวหรือ มีคู่สามีภรรยา คู่หนึ่งที่เกือบจะเลือกที่จะ "ให้อภัย" กับฆาตกร เพราะล้างแค้นไปก็ไม่ได้สิ่งที่สูญเสียไปกลับมา แต่ตัวละครอื่นๆ ก็หาเหตุผลดึงกลับมาสู่การล้างแค้นจนได้

อาจจะเป็นไปได้ที่ผมไม่ได้มีประสบการณ์เช่นตัวละครในหนัง แต่เราจะให้ความทุกข์เหล่านี้ผูกมัดตัวเราถึงเมื่อใด หลังจากล้างแค้นแล้ว หนังก็ยังต่อไปด้วยว่า การล้างแค้นก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตคนเหล่านั้นดีขึ้นอย่างใด


ผมคงไม่สามารถบอกได้ว่า "การให้อภัย" เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ตราบใดที่เรายังเจ็บปวดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น "การลงโทษ" คนผิดก็เป็นสิ่งจำเป็น แต่เราจะคาดหวังอะไรกับการลงโทษเหล่านั้น หรือเราพอใจกับ "การขอโทษ" ที่เขาสำนึกและขอจากเราหรือไม่

ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญและจัดการกันต่อไป



February 10, 2010

มองมุมเหม่ง > ดอกไม้ที่หายไป (Where have all the flowers gone?)

ตอนอยู่ไม่รู้ค่า
พอเธอลาเป็นว่าคิดถึง
ทำไมไม่พึ่งตัวเอง
*******************

สองสามสัปดาห์มีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ แต่ส่งผลกระทบใหญ่ๆ ในที่ทำงานของผมครับ

มีการเปลี่ยนตัวแม่บ้านคนใหม่ จากบริษัทใหม่ ด้วยเหตุผลที่บางคนอ้างถึงเรื่อง "งบประมาณ" หรือ "คุณภาพงาน" อะไรประมาณนั้น

แม้ว่า คนเดิมที่อยู่กับเรามานานพอสมควร จนจดจำรสนิยมของคนในบริษัทได้ ไม่ว่าจะเป็นรสชาติกาแฟของนายใหญ่ หรือ น้ำชาบูชาพระของผม เมนูกลางวันของอีกหลายๆ คนที่มักจ้างแกไปซื้อให้ ฯลฯ

จะว่าไป เรื่องเหล่านี้ ผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องสลักสำคัญอะไร แค่คนหนึ่งมา แล้วอีกคนหนึ่งไป ตามวัฏจักรของงาน ของชีวิต
จะมีนิดนึง ที่หลายๆ คนคิดว่าแกทำตัว "คุ้นเคย" มากเกินไป

กลับมานึกๆ ดู เรื่องนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นแค่ที่นี่ หรือเป็นเรื่องของบุคคลใดคนหนึ่ง จำได้ว่า ตอนเด็กๆ ที่บ้านจะมีคนทำงานบ้านหลายคน แรกๆ ก็จะสงบเสงี่ยมเรียบร้อยดี แต่พออยู่ๆ ไปเริ่มรู้จัก เริ่มคุ้นเคย สิ่งที่เป็นตัวตนก็จะแสดงออกมา ทำอะไรแล้วนายไม่ว่า ก็จะเลยตามเลย ซึ่งบางอย่างก็ไม่เหมาะสม

อันนี้ ผมว่าขึ้นกับคนที่เป็นเจ้านายด้วย ว่าจะดูแลปกครองอย่างไร เป็นตัวอย่างที่ดีให้เขาเกรงใจ และเคารพหรือไม่

กลับมาที่ออฟฟิศผมอีกครั้ง แม่บ้านคนใหม่ที่มาแทน อยู่ได้สองวันก็ไม่มาอีกเลย อ้างว่า งานที่นี่มันเยอะกว่าที่เดิม เพราะที่เก่าแกเป็นออฟฟิศเล็กๆ คน 6-7 คน แต่ที่นี่เรามีกว่าครึ่งร้อย ก็เทียบกันไม่ได้

เดือดร้อนฝ่ายบุคคลต้องมาช่วยเก็บกวาด ล้างจาน พร้อมกับออกประกาศเวียนทั่วบริษัท ให้พนักงานทุกคนรับผิดชอบแก้ว จานชาม ของตนเอง

อ่านแล้วก็อย่าขำละกัน ว่าทำไมต้องมานั่งปากเปียกปากแฉะกันอย่างนี้ ไม่ใช่เพราะว่าทุกคนจะมีความรับผิดชอบที่เท่ากัน บางคนกินเสร็จก็ทิ้งกองไว้อย่างนั้น เหมือนว่าเอาคนใช้หรือคนทำงานบ้านติดตัวมาจากบ้านด้วย หรืออาจจะคิดไปว่าการมีคนช่วยล้างจานชามช้อนนั้น เป็นสวัสดิการอีกอย่างที่บริษัทต้องจัดเตรียมไว้ให้

ย่อหน้าข้างบนเขียนเหน็บๆ นะ แต่มันเป็นอย่างนี้จริงๆ

คิดเล่นๆ แบบสุดโต่งว่า สุดท้ายเมื่อไม่มีใครเก็บ ไม่มีใครล้าง คนที่เดือดร้อนที่สุดก็คงจะลุกขึ้นมาจัดการ พร้อมกับเสียงบ่น หรือเป็นภาพที่ ต่างคนต่างทำ ความวุ่นวายก็จะกลับเข้าสู่เหตุการณ์ปกติ พร้อมกับระเบียบใหม่ในสังคมที่อยู่ร่วมกันว่า กรรมใดใครก่อ คนนั้นรับผิดชอบ

มองในภาพใหญ่ สังคมเราเป็นอย่างนี้จริงๆ บางทีสิ่งที่แก้ไขปัญหาได้อาจจะไม่ใช่ฮีโร่ หรือวีรบุรุษที่ไหน แต่เป็น "กาลเวลา" นั่นเอง