การจัดการประสานทุกสิ่ง
แท้จริงใครตรวจสอบ
****************************
แท้จริงใครตรวจสอบ
****************************
มูลเหตุที่เขียนเรื่องนี้ นอกเหนือจากที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่ๆ ในวงการที่ปรึกษาแล้ว ยังเนื่องมาจากงานประจำที่ขยายขอบเขตจากเดิมที่ขายตัวสินค้า หรือระบบต่างๆ มาเป็นการให้คำปรึกษา วางแผน ซึ่งเป็นแนวโน้มการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น เพราะเหนือไปจาก คุณภาพ และ ราคาแล้ว คุณจะต้อง "เข้าใจ" และมองทะลุถึงปัญหาของลูกค้าได้ลึกกว่าเดิม ถึงจะอยู่ได้
กลับมาเรื่องของการให้คำปรึกษาอีกครั้ง ที่ยุคหลังเริ่มทวีความสำคัญ เพราะความซับซ้อนที่มากกว่าเดิม ทั้งในด้านเทคโนโลยี กฏหมาย มาตรฐาน และการตลาด ทำให้จากที่ปรึกษาทั่วๆ ไป ก็ต้องระบุให้ชัดเจนว่า จะเป็นที่ปรึกษาเฉพาะเรื่องอะไร ตรงนี้ก็จะสะท้อนกลับไปยัง มาตรฐานการศึกษา ละครับ ว่าทางภาครัฐได้เตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง ซึ่งคำตอบก็รู้ๆ กันอยู่ว่า มีข้อจำกัดกันแค่ไหน
ขั้นตอนคร่าวๆ ในการทำงานของที่ปรึกษาทางวิศวกรรมนั้น เริ่มตั้งแต่ (ที่ยังไม่มีอะไรเลยน่ะ)
- การวางกรอบแนวคิดหลัก (Conceptual Design) ว่าภาพรวมต้องมีอะไร ยังไงบ้าง แล้วพัฒนาต่อมาเป็น
- แบบรายละเอียดเบื้องต้น (Preliminary Design) ซึ่งก็จะเห็นภาพชัดขึ้น ถึงองค์ประกอบต่างๆ รวมไปถึงงบประมาณที่ต้องใช้ แล้ว ในลำดับต่อไปก็จะเป็น
- การลงรายละเอียด (Detail Design) ของแต่ละส่วน รวมไปถึงแบบ หรือ บางทีกำหนดถึงยี่ห้อสินค้าเลย และสุดท้ายเมื่อโครงร่างทางเทคนิคทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ก็จะเพิ่มเติมส่วนอื่นๆ เช่นข้อกำหนด กฏหมาย เงื่อนไขต่างๆ กำหนดเป็น เอกสารสำหรับการประกวดราคา (Term of Reference - TOR) ในท้ายที่สุด
จากการทำงานข้างต้น จะเห็นได้ว่า ต้องใช้องค์ความรู้มากมาย โดยเฉพาะในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้น แทบจะหาตัวจริงในวงการมิได้เลย รวมไปถึงขอบเขตที่ต้องรู้ ซึ่งบางทีการเรียนในหลักสูตรก็ไม่มี เช่น เรื่องของข้อกำหนด กฏหมาย กับนักเรียนวิศวกรรม แต่ก็จำเป็นต้องรู้ทั้งหมด จะเอาไว้กันหมากัด หรือรู้ไว้เพื่อประโยชน์สุขของลูกค้าก็ได้ เหล่านี้ ทางบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำจริงๆ ก็จะมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญกันหลายคน ซึ่งเมื่อคนมากขึ้น ความยาก ซับซ้อนมากขึ้น ก็ส่งผลต่อราคาค่าตัว ค่าสมอง และประสบการณ์
ซึ่งในปัจจุบัน โชคดีที่ลูกค้าหลายๆ รายเริ่มเข้าใจ และยอมจ่ายมากขึ้น เมื่อเทียบกับในอดีตที่จะขอกันฟรีๆ ซะมากกว่า
แต่ปัญหาที่ปวดหัวกว่านั้น คือ "การตรวจสอบ" ครับ ว่าข้อเสนอแนะ หรือ รายงานที่เราได้รับจากที่ปรึกษานั้นน่ะ มันเชื่อถือได้อีกหรือเปล่า ต้องอ้างอิงอะไรจากที่ไหน
จนบางที ก็มีการตั้ง "ที่ปรึกษา" ซ้อน "ที่ปรึกษา" เป็นชั้นๆ ขึ้นมาอีกเพื่อตรวจสอบกันไป หรือแม้จะตกลงกันว่าต่อไปว่าให้อ้างอิง มาตรฐาน หรือ ข้อกำหนด แต่ก็ต้องปวดหัวกันอีกว่า จะเอาของประเทศไหน เพราะมาตรฐานความรู้ของที่ปรึกษาแต่ละประเทศนั้น ก็แตกต่างกันไป จะค่ายยุโรป หรือ อเมริกา (2 ค่ายเท่านั้น เพราะประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ ยังไม่ได้รับการยอมรับ แม้ว่าบางทีเราจะมีดีกว่าก็ตาม)
ก็เป็นเรื่องที่ตลกดีนะครับ มัวแต่คิดในเชิง "จับผิด" เชิง "ป้องกัน" จนกลายเป็นการสร้างปัญหาใหม่ๆ ขึ้นมาแทน ซึ่งก็ยังหาข้อสรุปกันไม่ได้ อยู่ที่ว่าแต่ละกรณีจะหักล้างโต้แย้ง หรือ รอมชอมกันอย่างไร แต่แนวโน้มที่น่าจะเป็น ก็คง หาระบบมาตรฐานอะไรสักอย่างมาอ้างอิง
ซึ่งก็จะเป็นเกมของคนที่กำหนดกติกา ว่าจะกำหนดให้ฝ่ายตนเองได้เปรียบยังไงกันมากกว่า
เหล่าผู้บริโภค หรือ คนที่ต้องซื้อเทคโนโลยีมาใช้ ก็ก้มหน้ากันต่อไป
ถือว่าเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งละกันนะครับ