November 26, 2009

มองมุมเหม่ง > ระหว่างปลายเส้นของหลักการและอารมณ์ (Inbetween Logic & Emotion)

ถูกต้องหรือใช่ไหม
เหตุผลและอารมณ์อย่างไร
ขึ้นกับใครกำหนด
******************

บนทางเดินของความสัมพันธ์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเพศตรงข้าม หรือเพศข้างๆ หลายครั้งที่มีเรื่องราวที่เห็นต่าง ที่ไม่ลงรอยกัน แต่ลงเอยด้วยการทะเลาะกัน

กลับมาคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะต่างฝ่ายต่าง "ยืน" ในมุมของตัวเองแล้วมองออกมา เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ทั้งสองฝ่ายหลุดจากจุดเดิมของตนที่จากที่ต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อผลที่สร้างสรร กลับกลายเป็นโต้แย้งเพื่อเอาชนะกัน

หลายครั้งที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนเงียบและปล่อยให้เรื่องราวจบลงไปโดยไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน

หลายปีที่ผ่านมา มีหนังสือโด่งดังขายดี พูดถึงมนุษย์ดาวอังคารและดาวศุกร์ เทียบกับฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เพื่อให้เข้าใจฝ่ายตรงข้ามมากขึ้น แต่เท่าที่เห็น คนเขียนรวย แต่คนซื้ออีกมากมายยังมีปัญหากับคู่ของตนเองเหมือนเดิม

ผมเริ่มประเด็นนี้ด้วยคำติติงกึ่งคำถามที่ว่า ผมเป็นชาวดาวอังคารอพยพมาจริงๆ หรือเปล่า เมื่อเทียบกับแนวคิดในการทำงาน การใช้ชีวิตที่ว่า "ทุกอย่าง ทุกการกระทำของมนุษย์ มีเหตุผลและแรงขับดันเสมอ" นั่นเป็นสิ่งที่คนรอบข้างรู้สึกได้ถึงทุกอย่างที่เป็นผลลัพธ์ออกไป

คนใกล้ชิดให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า มันไม่ใช่ทุกอย่างหรอกนะ ที่จะคิดได้อย่างนี้ บางทีก็เป็นเรื่องของความรู้สึกเท่านั้น

ผมเห็นด้วยกับเธอบางส่วน แม้ว่าจะไม่ค่อยเข้าใจหลักคิดของเธอเองก็ตาม

ผู้หญิง มักจะมีอะไรให้เราแปลกใจเสมอ อย่างเช่น เมื่อเริ่มต้นในความสัมพันธ์ เมื่อผมถามว่า อยากให้ผมทำอะไรสักอย่างให้เธอไหม?? เธอตอบทันทีว่าไม่ เพราะเธอเกรงใจ

ด้วยความเคารพ ผมหยุดอย่างที่เธอต้องการ แต่ท้ายที่สุดแล้ว เธอว่า ผมใจไม้ไส้ระกำ ไม่เข้าใจ และไม่เห็นใจเธอเลย

คำติติงบอกผมว่า บางเรื่องผมต้องปล่อยให้มุมของอารมณ์เป็นตัวชี้ทางเราบ้าง ผมแย้งเธอว่า อารมณ์บนสัณชาตญาณ และความเสี่ยงดอกหรือ

หยุดแค่นี้ก่อน เพราะผมว่ามันคงยังไม่มีข้อสรุปในเร็ววัน และผมคงไม่ใช่คนแรกที่เปิดประเด็นนี้ มองให้กว้างกว่าความสัมพันธ์ของคน ในเรื่องงานละ ใช่เนื้อหาเดียวกันหรือไม่

ครั้งหนึ่งในชั้นเรียนวิชาการตลาด กลุ่มของเราตั้งใจจะทำแผนธุรกิจเกี่ยวกับรถแท็กซี่ ที่มีระบบนำทางและบริการอัตโนมัติ ผมเค้นหัวอยู่หลายวันจนได้ชื่อว่า MITR (Metropolitan Intelligent Taxi Reservation) ชื่อภาษาไทยฟังดูก็อบอุ่นดีนะเนี่ย "มิตร"

เมื่อนำเสนอให้กับกลุ่ม ทุกคนส่ายหัวอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย สุดท้ายจบด้วยชื่อเรียบง่ายของพี่ที่เป็นสถาปนิก Red Cab (Cab ศัพท์แสลงอเมริกันที่เรียกแท็กซี่) อืม ผมเข้าท่ากว่าไอ้ชื่อเมื่อกี้ตั้งเยอะ

อันนี้เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้คิดว่า บางอาชีพ อารมณ์ก็สำคัญมาก ทั้งศิลปิน ครีเอทีฟ นักแสดง แต่ไม่ใช่ว่าเรื่องของเหตุผลจะไม่สำคัญ ยิ่งถ้าคุณเป็นวิศวกร นักบัญชี นักการเงิน หรือผู้บริหาร เรื่องหลักการเหตุผลเป็นสิ่งที่จำเป็นจริงๆ

ความยากอยู่ที่ว่า เราจะจัดการกับเรื่องทั้งสองอย่างนี้ ในคนๆ เดียวได้อย่างไร ซึ่งย้อนไปถึงพัฒนาการของสมองทั้งสองด้านตั้งแต่เด็กด้วย งานอดิเรก หรือ การเล่นเกมส์ ก็คงจะช่วยได้บ้าง

อยู่ที่เราแล้วละครับ ว่าจะเลือกให้เกิดสมดุลของทั้งสองฝั่ง หรือจะเน้นให้เชี่ยวชาญอย่างใดอย่างหนึ่งไปเลย ทั้งสองทางเลือกก็มีต้นทุนและสิ่งที่ต้องจ่ายออกไปเช่นกัน

แต่ถ้าถามผม เลี้ยงไว้ทั้งสองอย่างดีกว่าครับ เพราะชีวิตคนเราไม่ได้มีแค่อะไรเพียงอย่างเดียว เปิดทางให้กับชีวิตหลายๆ ทางจะดีกว่าครับ

November 24, 2009

มองมุมเหม่ง > นิทานก่อนนอน (Bed Time Story)

เทวดานางฟ้า

บินมาอวยพรนอนฝันดี

เติบใหญ่ใจงดงาม

********************

ถ้าพูดถึงการเล่านิทานก่อนนอนแล้ว ไม่แน่ใจว่าเด็กสมัยนี้จะรู้เรื่องกันบ้างหรือเปล่า เพราะว่าเป็นความบันเทิงแบบดั้งเดิมที่พ่ายแพ้ให้แก่ทีวี กระทั่งถึงอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีความพยายามของพ่อแม่ยุคใหม่ และผลการวิจัยว่าสามารถทำให้เด็กเล็ก (ตั้งแต่ในท้องจนกระทั่ง 6 ขวบ) ได้มีโอกาสสัมผัสคำว่า อัจฉริยะ กับเขาบ้าง

ผลการวิจัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ความเข้าใจเดิมที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังก่อนนอน เพื่อให้ลูกๆ ได้ซึมซับการใช้ภาษา สร้างเสริมจินตนาการนั้น อาจจะยังไม่ "ดี" พออย่างที่คิด


กลุ่มนักวิจัยจาก UCLA แนะนำว่า พ่อแม่สามารถพัฒนาลูกๆ ได้มากกว่านั้น โดยการที่ให้ลูกๆ ได้มีส่วนร่วมในการพูดคุยกับพ่อแม่ด้วย ซึ่งจะทำให้พัฒนาการของเขาเร็วขึ้นกว่าเดิม


งั้นเราลองมาดูกันไหมครับ ว่าจะทำอย่างไรกันได้บ้าง เริ่มจากนิทานทั่วๆ ไป เช่น เทพนิยายกริมส์ (หนูน้อยหมวกแดง, ซินเดอเรลล่า, สโนว์ไวท์) หรือ เอาแบบไทยๆ ก็ได้ (ถ้าพ่อแม่ยังพอจำได้อยู่) เช่น โสนน้อยเรือนงาม, ปลาบู่ทอง


เมื่อเราเล่าไปแล้ว อาจจะหยุดเป็นระยะ แล้วลองตั้งคำถามเพื่อสอดแทรกแนวคิดอื่นๆ หรือดูความเข้าใจของเขา เช่น


- "เราคิดว่าหนูน้อยหมวกแดง เดินไปในป่าคนเดียวจะดีไหมคะ" (ระมัดระวังในการเดินทาง)

- "สโนว์ไวท์ รับแอปเปิ้ลจากคนแปลกหน้าได้หรือเปล่าเอ่ย" (รับของจากคนแปลกหน้า)


การที่เราอ้างอิงจากนิทานที่มีอยู่แล้ว ก็สะดวกสำหรับพ่อแม่ และดึงความสนใจได้ดีกว่าเพราะเป็นสิ่งที่ "รู้ๆ" กันแล้ว แต่กรณีถัดมา เหมาะสำหรับพ่อแม่ที่ "แนว" และมีพลังจินตนาการเหลือเฟือ โดยนิทานที่เล่านั้นจะแต่งขึ้นมาเอง อาจจะเป็นเรื่องหลุดโลก แฟนตาซี หรือ พ่อกับแม่นำเรื่องราวในชีวิตประจำวันมาผูกเรื่องเล่าเป็นนิทานให้ลูกฟัง เพื่อที่เขาจะได้เข้าใจการใช้ชีวิตและโลกของผู้ใหญ่มากขึ้น โดยอาจลดทอนให้เรียบง่ายแต่ยังคงไว้ซึ่งจินตนการที่ต้องการ


หรือจะท้าทายกว่านั้น ให้การเล่านิทานของเรา เป็นเกมส์อีกอย่างหนึ่งระหว่างพ่อแม่และลูกก่อนนอน เช่น ให้ลูกกำหนดคำขึ้นมาชุดหนึ่ง แล้วให้พ่อแม่ผูกเป็นเรื่องขึ้นมา โดยให้เขาได้มีส่วนร่วมในการกำหนด "ชะตากรรม" ของเรื่องนี้ด้วย ซึ่ง ก็มีหลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จ กลายเป็นหนังสือ "เบสท์เซลล์เลอร์" ไปในที่สุด เช่นเรื่อง "ปิ๊ปปี้ ถุงเท้ายาว" (Pippi Longstocking) ของ แอสทริด ลินด์เทรน ที่มียอดจำหน่ายกว่า 15 ล้านเล่ม หรือ "ช้างน้อย บาบาร์" (Babar The Elephant) ของ เซซิล เดอบรันฮอฟฟ์ ที่กลายเป็นภาพยนต์ในที่สุด สดกว่านั้น ก็กรณีของ ไคลฟ์ วู้ดดอล ที่เขียนนิทานก่อนนอนเพื่อเล่าให้ลูกฟัง เรื่อง "บินสุ่ฝัน" (One for Sorrow, Two for Joy) ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับนกพันธุ์ต่างๆ จนติดอันดับหนังสือขายดีของอเมซอน และตอนนี้ไปรอเป็นหนังของวอลต์ ดิสนีย์ ด้วยราคาลิขสิทธิ์ 1 ล้านเหรียญแล้ว


ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ก็เพื่อพัฒนาการของลูกเรา ที่พ่อแม่ต้องทุ่มเทและเอาใจใส่ ปัญหาอย่างเดียวที่นึกออกตอนนี้ก็คือ...


นิทานสนุกซะจนไม่ได้นอนกันทั้งพ่อแม่ลูกก็เท่านั้น