July 20, 2016

เรียนจากหนัง > Clown of a Salesman (2015) หัวเราะมิออก ร่ำไห้มิได้


ต้องยอมรับว่าเสน่ห์อย่างหนึ่งของหนังเกาหลีคือ การวางพล็อตเรื่องที่น่าสนใจ หยิบโน่นมุมโน้น มาตัดต่อติดกับนี่ในมุมนี้ กลายมาเป็นหนังสนุกๆ ที่ชวนชมอย่างไม่น่าเชื่อ

Clown of a Salesman หนังปี 2014 ของผู้กำกับ Jo Chi-eon ก็เช่นกัน โดยที่นำเรื่องราวของ สังคมผู้สูงอายุ (ผู้หญิง) และ งานขาย มาเชื่อมกัน ผ่านบทบาทการแสดงของ Kim In-kwon ในบทของ Il-Bum ชายผู้ที่พยายามอย่างหนักเพื่อครอบครัว, Park Cheol-min กับบทของผู้จัดการจอมเจ้าเล่ห์ และ Lee Joo-sil ในบทของ Ok-nim หญิงชราผู้โดดเดี่ยว ที่ต่างต้องมาพัวพันกันหลังจากที่ Il-Bum ต้องออกจากงานขับแท็กซี่ และมาเริ่มต้น แบบไม่มีทางเลือกกับงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ (หรือในหนังเรียกกันว่า “งานขาย”) ที่ต้องคอยดูแลเอาใจเหล่าหญิงสูงอายุให้สนุกสนาน เพื่อให้เธอซื้อสินค้าต่างๆ ของบริษัทที่มีราคาสูงเกินจริงเป็นการแลกเปลี่ยน เพื่อที่ Il-Bum จะสามารถหาเงินเพื่อไปรักษาลูกสาวที่ป่วยด้วย และเมื่อ Il-Bum ได้มาเจอกับ Ok-nim หญิงชราคุณแม่ดีเด่นแห่งชาติ ผู้มีลูกชายเป็นอัยการ แต่ตนเองต้องอยู่คนเดียวอย่างเงียบเหงาในคอนโดเล็กๆ Il-Bum ก็เป็นตัวแทนของลูกชายที่ห่างเหินกับเธอได้ เหมือนกับเป็นแม่ลูกกันจริงๆ

ปมของหนังมาถึงจุดพีคที่ Il-Bum ต้องการใช้เงิน จนเขาต้องยอมพ่ายแพ้แก่ความโลภ นำความรู้สึกที่ดีของหญิงชรามาแปรเปลี่ยนเป็นผลประโยชน์ของตนเอง จนลงท้ายด้วยโศกนาฏกรรมในที่สุด

เมื่อหนังจบแล้ว สิ่งที่ให้เราได้คิดถึงมันต่อ อย่างแรกคือ คำเตือนต่างๆ จากกูรูทั้งหลายที่เตือนถึงอนาคตของชนชั้นล่าง ผู้ที่ไม่มีทักษะใดๆ ที่ตลาดต้องการ จะอยู่กันยากขึ้น ทั้งรายได้ ความมั่นคง และค่าใช้จ่ายที่น่ากลัวที่สุดคือ ค่ารักษาพยาบาล ซึ่งถ้าป่วยขื้นมาแล้ว บางครั้ง บางโรค ทำเอาเราแทบจะหมดตัวเลยทีเดียว ดังนั้น การวางแผนชีวิต หลีกเลี่ยงปัจจัยป่วย และสำรองค่าใช้จ่ายให้พอเพียงยามต้องการ น่าจะเป็นสิ่งแรกที่เราต้องสำนึกกันไว้

ประเด็นถัดมา คือ การคืบคลานเข้ามาของสังคมผู้สูงอายุ ที่เห็นได้ชัดเจนว่า อีกไม่นาน คนกลุ่มใหญ่จะต้องแยกตัวมา “แก่” อย่างเดียวดาย อย่างที่หนังจะย้ำกับเราสองสามครั้งว่า บางที “ความกตัญญู” ก็ไม่ขึ้นกับระดับการศึกษา หรือ ฐานะร่ำรวยใดๆ และด้วยเหตุผลนานาของลูกหลาน ที่สนใจแต่เรื่องของตัวเองจนลืมไปว่า เขาทิ้งขว้างพ่อแม่ผู้สูงอายุที่เป็นคน มีความรู้สึกเช่นกัน ไปไกลแค่ไหน ซึ่ง “ว่าที่ผู้สูงอายุ” ทั้งหลายก็คงอย่ามัวรอลูกหลาน ต้องเริ่มคิดวางแผนชิวิตไว้แต่เนิ่นๆ เช่นกัน

สุดท้ายสำหรับคนที่เกี่ยวข้องกับงานขายทั้งหลาย น่าจะได้เห็นรูปแบบการขายในแบบต่างๆ ที่ผู้จัดการได้พร่ำสอนเขา ตั้งแต่ การใช้ไม้นวมในการเกลี้ยกล่อมลูกค้า, การนำเสนอด้วยรูปแบบที่สนุกสนาน, ฉาบเคลือบด้วยความปรารถนาดี, บนชั้นเชิงของการนอบน้อมถ่อมตน, วางตัวเป็นผู้ที่คอยเอาใจใส่ยิ่งกว่าลูกหลานของตนเอง, ประกอบกับการเล่นละครให้กลุ่มเป้าหมายได้เห็นใจโดยไม่หวงน้ำตากันเลย, จนกระทั่งการใช้บทไม้แข็งในการข่มขู่ต่างๆ เพื่อให้ได้เงินมาที่สุด

ซึ่งเทคนิคเหล่านี้ แม้ว่าบางอย่างจะเป็นสีเทาไปจนเกือบจะดำน่ารังเกียจ แต่ก็ต้องยอมรับว่า มันก็คือเทคนิคการขายอีกแบบหนึ่งเช่นกัน แต่อยู่ที่ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขายจะยอมรับ และ ยอม “เปลี่ยนตัวตน” เพื่อผลประโยชน์ดังกล่าวได้แค่ไหน แล้วเรายังเหลือความภูมิใจในศักดิ์ศรีความเป็นคน ของเราอีกหรือไม่

ซึ่งเป็นคำถามที่ตัวละครก็ยังคงพร่ำถามตนเอง แม้ว่าหนังจะปิดฉากไปแล้วก็ตาม


* ชมตัวอย่างภาพยนต์จาก Youtube นะครับ

July 8, 2016

มองมุมเหม่ง - My JUMC is NEXT

 
โครงการ JUMC NEXT รุ่นที่ 11 ปิดฉากไป 7 วันแล้ว น้องๆ พี่ๆ ทั้งหลาย ก็คงปรับชีวิตไปอยู่ในวงจรปกติเช่นกาลก่อน แต่ทางผมเองก็มีบางอย่างที่อยากจะบันทึกไว้บ้าง (ท่าน ผอ. โตสิต ทวงมา)

ก่อนอื่น ต้องขอบใจน้องๆ ทุกคนครับ ที่เตรียม friendship เล่มนี้พร้อมกับความคิดถึง แม้จะไม่ครบทุกคน แต่ก็รับรู้ได้ถึงความรู้สึกของพวกเรา ขอบคุณนะครับ และขอโทษที ที่ภาพประกอบบันทึกนี้ ไม่สามารถเอามาลงได่้ทุกคน และขออภัยด้วยที่ทั้งโครงการ พี่ไปเจอพวกเราได้ 3-4 ครั้งเอง (อ๊าย..อาย เป็นถึง JUMC#0 แท้ๆ)

หลายสิ่งที่เป็นเบื้องหลังของ JUMC NEXT ต่างๆ นั้น หลายคนคงทราบไปบ้างแล้ว ก็ขอพูดถึงแนวคิดที่มาของ NEXT นี้ ซึ่งคงมี JUMC รุ่นอื่นๆ ยังสงสัยอยู่บ้าง

อย่างที่ทราบ JUMC เดินทางมาครบ 10 ปี พี่โตสิตก็มีความคิดที่ว่า เราต้องเปลี่ยนเพื่อหนีความสำเร็จของเราเอง ไม่ใช่อยู่กับที่เพื่อถอยหลัง หรือ รอให้คนอื่นๆ มาเปลี่ยน ซึ่งที่นี้คำว่า NEXT ก็มา

ในแง่ของ Branding, เรายกให้ JUMC เป็น Umbrella brand โดยมี NEXT, WoW เป็น brand ย่อย และจะง่ายต่อโปรแกรมอื่นๆ ที่จะมาอีกในอนาคต (ในมุมนึงก็มีความท้าทายที่ต้องทำให้ NEXT และ WoW เป็นที่รับรู้ของตลาด โดยไม่สับสนกับ JUMC เดิมในอดีต / ขอบใจทีม PR มากครับ ที่ทำตรงนี้ได้ดีทีเดียว)

ในแง่ของความต่าง เรากลับไปมอง concept เดิมที่เราเริ่มทำตั้งแต่วันแรก - ความรู้และเข้าใจเรื่อง MBA, DNA ของชาว JUMC (ที่ตกผลึกในรุ่นที่ 4-5) ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ และ กิจกรรมในรุ่น เราว่า เราทำได้ดีในระดับนึงแล้ว ซึ่งเมื่อทวนถามกับรุ่นหลัง การคัดเลือกยังคงเป็นการสอบ online เหมือนเช่นที่ทำตั้งแต่รุ่นที่ 1 

ตรงนี้ ที่เราแปลกใจมาก เพราะเมื่อถามให้ละเอียดแล้ว กรรมการหลายๆ รุ่นบอกว่า การสอบออนไลน์ มันดูไฮเทค ทันสมัย และง่ายในการคัดเลือก และเป็นเรื่องที่ทำต่อๆ กันมา 

ซึ่งเราต้องเฉลยให้น้องเข้าใจว่า ในยุครุ่น 1 นั้น JUMC เริ่มที่คน 3 คน เราจำเป็นต้องสมัคร Online เพื่อที่จะทำงานให้ง่ายและมีประสิทธิภาพที่สุด แต่วันนี้เรามีน้องๆ มาช่วยมากกว่าเป็นสิบเท่า การคัดเลือกจึงต้องเพิ่มการสอบข้อเขียนเข้ามาอีกทางหนึ่ง เพื่อให้การคัดกรองเข้มข้นตาม DNA JUMC กว่าเดิม (และต้องการให้เห็นภาพของผู้สมัครที่แตะ 800 คน ว่าภาพจริงๆ มันอลังการแค่ไหน) แล้วก็เป็นส่วนของการสัมภาษณ์ที่เรากลับมาเน้นที่กรรมการ หัวข้อที่จะสอบถาม เพื่อให้มั่นใจว่า เราได้คนที่เหมาะสมจริงๆ

ในเรื่องของเนื้อหา หรือ การทำ Project เราก็เน้นและลงรายละเอียดกันทุกจุด เพื่อให้น้องๆ ได้สนุก และ เรียนรู้ไปด้วยกัน (ขอบใจน้องๆ กรรมการที่อดทน ต่อ comment ของพี่ๆ นะครับ)

ผลลัพธ์คือพวกน้องๆ JUMC NEXT#11 นี่ไงครับ

แต่ฝากถึงน้องๆ อีก 700 กว่าคนที่ไม่ได้มาเป็น NEXT#11 นะครับ (จริงๆ อยากรับหมดนะ 555) พวกเราไม่ได้ด้อยกว่า 88 คนนี้ เพียงแต่พวกเราอาจจะเตรียมตัวมาน้อยกว่า และบางมุมก็อาจจะยังไม่พร้อม ปีหน้าลองมาดูอีกทีนะ พี่จะรอ

หลังจากปิดโครงการแล้ว ผมเองในฐานะที่ปรึกษา และ คนนึงที่ได้เห็นโครงการนี้คลอดออกมา ก็มั่นใจว่า JUMC NEXT จะเดินทางไปต่อได้ (ขออีกทศวรรษละกัน) แล้วก็สนุกที่ต้องมาดูว่ามันจะเติบโตเป็นอย่างไร

สุดท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณคณะพาณิชยศาสตร์ฯ จุฬาฯ, สมาคมนิสิตเก่า MBA, อาจารย์สมเกียรติ เอี่ยมกาญจนาลัย, กรรมการทุกท่าน และพี่โตสิต วิสาลเสสถ์ ที่ให้โอกาสผมในโครงการนี้ รวมถึงการสนับสนุนทุกๆ อย่างครับ

และที่ขาดไม่ได้ พวกเราไง JUMCers ตั้งแต่ รุ่น 1 ถึงรุ่น 11 ที่เข้ามาเป็นครอบครัวเดียวกัน

แล้วพบกันใหม่ เมื่อชาติต้องการ