December 22, 2013

มองมุมเหม่ง > บนถนนของมืออาชีพ - การจัดการกับความขัดแย้ง

(ถ้าชาติที่แล้วมีจริง ผมเองอาจจะเคยเกิดเป็นกรรมการห้ามมวยมาก่อน กรรมการห้ามมวยที่คอยเข้าไปแยกฝ่ายแดง ฝ่ายน้ำเงิน พร้อมกับคำแนะนำที่รับได้ทั้งสองฝ่าย แถมมากับลูกหลงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยที่ไม่สามารถคิดค่าใช้จ่ายกับฝ่ายใดได้)

ประสบการณ์ที่อยู่ระหว่างความขัดแย้งต่างๆ นั้น ถ้าจะถามว่า ถ้าเราได้รับเลือกให้เป็นคนกลางดังกล่าว เราจะบริหารจัดการกันอย่างไร ซึ่งถ้าจะพูดถึงสิ่งที่เจอมา ก็พอจะสรุปได้ว่า

- การเก็บข้อมูล > ข้อเท็จจริง เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก ถึงที่มาที่ไปของปัญหา อย่ามองข้ามประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจะมองข้าม เพราะในความขัดแย้งนั้น บางทีเป็นเรื่องของความรู้สึกที่มีหลักการและเหตุผลต่างๆ มาบังหน้า และ ข้อมูลต่างๆ ดังกล่าวที่รวบรวมมา ต้องระวังอย่าให้ความคิดเห็นส่วนตัวมาทำให้เราไขว้เขวด้วย

- การวิเคราะห์ > เมื่อได้ข้อมูลแล้ว (ไม่มีทางที่คุณจะได้ข้อมูลอย่างครบถ้วนหรอกครับ แค่มากที่สุดเท่าที่เวลา ความสามารถจะอำนวยก็ดีแล้ว) คุณอาจจะต้องใช้เวลาเรียบเรียง ทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไป ตัวละครทั้งหมด ข้อขัดแย้ง และ ความต้องการของแต่ละฝ่าย

- แนวทางหาข้อสรุป > เมื่อมาถึงขั้นตอนนี้ อาจจะต้องมีการเผชิญหน้ากัน ซึ่งในฐานะคนกลางอย่างคุณ การรักษาบรรยากาศอย่างเป็นกันเอง ถ้อยทีถ้อยอาศัย เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการที่จะจัดการกับความขัดแย้ง และเมื่อการหารือเริ่มต้น คุณอาจจะเริ่มจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ความเป็นมาคร่าวๆ และแนวทางที่จะสรุป ซึ่งทางออกที่เลือกนั้น ต้องให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกว่า ต่างฝ่ายต่างก็ Win-win ซึ่งเป็นจุดที่ท้าทายคนกลางอยางยิ่ง ทักษะต่างๆ ทั้งการเปลี่ยนมุมมอง ความคิดสร้างสรร ฯลฯ เหล่านี้จะต้องมีการฝึกฝนเพื่อนำออกมาใช้ได้อย่างเหมาะสมที่สุด การฝึกฝนดังกล่าวยังขึ้นกับบุคลิกภาพภายนอกของคุณด้วยครับ

- การติดตาม > เมื่อได้ข้อสรุป แนวทางที่จะตัดสินปัญหาแล้ว บทบาทคนกลางในการติดตามผลให้เป็นไปตามข้อตกลงอาจจะต้องมีอยู่ จนกว่าจะมั่นใจได้ว่า ทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว

- บทบาทของคนกลาง > บางครั้ง การเป็นคนกลางก็มีแต่เสมอตัวกับโดนด่า ซึ่งต้องขอบใจทุกท่านที่เสียสละเพื่อลดความขัดแย้ง (อันมีมากมายในโลกนี้) ซึ่งถ้าจบแบบไม่แฮปปี้ เนื่องจากการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ต่างๆ ไม่ถูกต้อง ความขัดแย้งก็ยังอยู่ ซึ่งการเจรจาครั้งใหม่นั้น จะยากยิ่งกว่าเดิม หรือ คุณอาจจะไม่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นคนกลางอีกครั้ง ดังนั้น ถ้าคุณได้รับเลือกให้เป็นคนกลาง คุณต้องมั่นใจว่าคุณ "เป็นกลาง" จริงๆ และไม่มีส่วนได้เสียใดๆ กับทั้งสองฝ่าย

เส้นทางนี้ อาจจะไม่ราบรื่น และต้องเจอปัญหาต่างๆ มากมาย อย่างไรก็ดี บางครั้งผลที่เราจะได้รับ อาจจะไม่ใช่ผลตอบแทนในรูปเงินทอง แต่เป็น "ความนับถือ" หรือ "การยอมรับ" ที่มีค่ามากกว่ายิ่งนัก

December 4, 2013

พรุ่งนี้วันพ่อ - บางอย่างที่ทำได้เพื่อลูก

พรุ่งนี้วันพ่อ - ตอนนี้เรามีลูกเป็นของเราเองแล้ว ระหว่างที่เฝ้าดูเขาเติบโตขึ้นมา หลายสิ่งหลายอย่างมันอดเปรียบเทียบกันไม่ได้ เรื่องการเรียนก็เหมือนกัน

พ่อโตมากับ มานี ชูใจ มานะ ปิติ เขาเป็นเพื่อนที่ดีของพ่อจนถึง ป.6 ทำให้พ่อหน้าจีนคนนี้ พูดไทย อ่านไทย ได้ชัดเจน ทำให้พ่อได้รู้จักและเข้าใจความหมายของคำว่าเพื่อน เข้าใจโลกกว้าง ต่างจังหวัด ฯลฯ ที่ไม่มีในกรุงเทพฯ บ้านเรา

ซึ่งเสียดายที่พวกเขาต้องหายไปเมื่อปี พ.ศ. 2537 แต่โชคดีที่วันนี้พ่อตามหาพวกเขาเจอแล้ว ไม่เปลี่ยนกันไปเลย ผิวพวกเขาอาจจะคล้ำไปบ้างตามกาลเวลา

พ่ออยากให้ลูกได้รู้จักเขาบ้างนะ ให้โอกาสเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของเพื่อนๆ ชาวต่างชาติของลูก แนะนำให้เขารู้จักกับ คิดตี้ เบนเท็น เทเลทัปปี้ โดเรมอน มินนี่ มิกกี้ ฯลฯ และได้เรียนรู้ ได้สนุกด้วยกัน

ขอบคุณ คุณครูเชียงรายดอทเน็ต มากๆ ครับ

ลองดูกันนะ

จาก พ่อ..ที่อยากดีกว่านี้

ดาวน์โหลด หนังสือเรียนภาษาไทย มานะ มานี ปิติ ชูใจ ทั้ง 12 เล่ม ฟรี

July 1, 2013

มองมุมเหม่ง > คน ค้น คน (Human Resource Management)




ช่วงชีวิตของการเป็นลูกจ้างมืออาชีพ ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว เริ่มจากลูกน้องตัวเล็กๆ หัวหน้าตัวกลางๆ จนมาถึงหัวเรือตัวท้วมๆ อย่างทุกวันนี้ สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ว่า "ไม่ง่าย" ในชีวิตมืออาชีพ คือ การบริหารจัดการ "คน" ครับ

ในวันที่เราเป็นหัวหน้า เป็นผู้นำ ที่ต้องรับผิดชอบชีวิตของคนอีกหลายๆ คนที่เต็มใจ (และตกกระใจพลอยโจน) มาทำตามสิ่งที่เราต้องการนั้น ก็จะมีเรื่องที่ต้องมองกันต่ออีกหลายกรณีดังนี้

กรณีแรก คือ การบริหารจัดการคนที่มีอยู่ก่อนแล้ว พวกเขาอาจจะอยู่กันมานานก่อนที่เราเข้ามา ซึ่งเราคงต้องมาวิเคราะห์ ประเมินคนเหล่านี้ก่อนว่า พื้นฐานความรู้ ความสามารถของเขาแต่ละคนเป็นอย่างไร สอดคล้อง ส่งเสริมเป้าหมายของบริษัทหรือไม่ แตกต่างจากคนอื่นๆ หรือเปล่า ควรจะเก็บไว้หรือปล่อยไปดี

เมื่อประเมินฝีมือกันแล้ว ก็มาดูในเรื่องของ EQ กันต่อว่าเขามีทักษะร่วมงานกับคนอื่นๆ เป็นอย่างไร ถึงขั้นนี้แล้ว เราก็จะเริ่มปวดหัว เพราะพวกฝีมือดีๆ หลายคนอาจจะทำงานขัดใจกับคนอื่นๆ ส่วนคนที่ใครๆ ก็รักนั้น มักจะไม่ใช่ตัวเลือกแรกของเรา การวิเคราะห์ตรงนี้จะช่วยเราในการวางแผนการจัดสรรงานให้ทีมเบื้องต้นได้ครับ

หลังจากนั้น สิ่งที่ต้องคิดต่อคือ เราจะพัฒนาทีมของเราต่อไปอย่างไร อนาคตปีหน้า, 3 ปี, 5 ปี พวกเขาจะเติบโต รับผิดชอบอะไรกันบ้าง ซึ่งคนที่เป็นหัวหน้าต้องวางแผน “ร่วม” กับเขานะครับ (เคยมองมุมนี้เกี่ยวกับการเป็นหัวหน้าในตอน “คนที่ใช่ ในที่ที่ถูกต้อง”
 http://mengmory.blogspot.com/2009/11/right-man-in-right-place.html) ช่วยให้เขามีอนาคตที่ดีในแบบที่เขาต้องการ แต่ก็เป็นแนวทางที่บริษัทจะไปด้วย อย่างนี้ถึงจะเรียกได้ว่าหัวหน้าคนนั้น “สอบผ่าน” ครับ

กรณีที่สอง คือ การหาคน “ใหม่” มาเสริมทีมครับ เรื่องนี้จะว่าง่ายก็ไม่ยาก จะว่ายากก็ไม่ง่าย หลายๆ บริษัทมักโบ้ยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายบุคคล แต่ที่จริงแล้ว ตัวหัวหน้าเองควรจะมีส่วนมากถึงมากที่สุดครับ เพราะผลลัพธ์ของเขา ก็คือผลงานของท่านนั่นเอง

การหาคนใหม่นั้น ง่ายที่สุดคืออ้างอิงรายละเอียดงานที่ต้องรับผิดชอบ จะเรียกกันว่า Job Description, Job Specification หรืออะไรก็ตาม ที่น่าแปลกใจคือบางบริษัทไม่มี หรือ ที่มีก็เป็นการลอกเขามา เขียนให้กว้างๆ เข้าไว้ ทำให้ฝ่ายบุคคลเองก็ทำงานลำบาก และ เสียเวลาในการหาคนที่ใช่จริงๆ ดังนั้น ตัวหัวหน้าเองจะต้องเป็นคนกำหนดรายละเอียดตรงนี้ให้ชัดเจนที่สุด

หลังจากนั้น เมื่อมีผู้สมัครเข้ามาให้เราคัดเลือก ตรงนี้ก็ไม่ง่ายอีกที่เราจะอ่านใครๆ ภายในเวลา 30-60 นาที (เวลาโดยเฉลี่ยในการสัมภาษณ์งาน) ถ้าเจอผู้สมัครที่เก๋าเกมส์หน่อย เขาสามารถตอบคำถามเพื่อสร้างความประทับใจลวงตาได้ไม่ยาก ตรงจุดนี้ ก็ขึ้นกับความเก่ง หรือ ประสบการณ์ของผู้สัมภาษณ์เองที่จะอ่านได้มากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อหรือไม่ หลายๆ แห่งเอง ไม่เคยมีการอบรม “ทักษะการสัมภาษณ์” เหล่านี้ให้กับพวกหัวหน้างานเหล่านั้นเลย จะว่ามันไม่มีหรือไม่สนใจก็แล้วแต่ ปล่อยไปตามยถากรรมที่สร้างมาของแต่ละคน ซึ่งก่อนสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์ก็ควรจะเตรียมตัวกันก่อน ว่าคนที่เราต้องการนั้น ควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร องค์ประกอบอื่นๆ ด้านชีวิตส่วนตัว ประสบการณ์ในอดีต ที่จะเสริมให้งานก้าวหน้านั้นเป็นอย่างไรบ้าง เหล่านี้ต้องมีโครงคำถามไว้คร่าวๆ แล้ว ยิ่งถ้าเป็นระดับผู้บริหารด้วยแล้ว ทักษะบางอย่าง เช่น การเป็นผู้นำ การวิเคราะห์ปัญหา ทัศนคติการมองปัญหา ฯลฯ ก็จำเป็นมากขึ้นไปอีก

เมื่อเจอคนที่คิดว่าใช่แล้ว ถัดมาก็เป็นเรื่องการเตรียมตัวพนักงานใหม่ให้เขาอยู่กับเราให้ได้ ซึ่งก็ขึ้นกับความชัดเจนของงานที่จะให้เขารับผิดชอบ สิ่งที่บริษัทคาดหวัง รวมถึงผลตอบแทนต่างๆ ที่เขาจะได้ เหล่านี้ต้องสื่อสารให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้เริ่มงานกันอย่างเต็มที่และสบายใจ

หวังว่ามุมมองเหล่านี้ น่าจะพอเป็นประโยชน์ให้กับหัวหน้างานทั้งหลายให้ประสบความสำเร็จกันทุกคนครับ


June 27, 2013

เป็นเรื่อง > แกะขาว / แกะดำ (Black or White)

(กลอน 6 คะเมน)

  • หมู่บ้านนี้มีแต่แกะ มองไปไหนก็เจอแกะ
  • เพราะเป็นหมู่บ้านของแกะ ใครไปมาก็ชมแกะ
  • แกะเยอะแกะแยะหลายแกะ แกะขาวแกะดำก็แกะ 


  • แกะน้อยสองตัวเป็นเพื่อน สำลีสีนิลสองแกะ
  • สำลีอดีตพ่อรวย จนได้ก็เพราะเล่นหวย
  • สีนิลพ่อแม่ขยัน ทำงานทั้งวันไม่บ่น


  • สำลีโตมาไม่มี สีนิลมีกินเหลือเฟือ
  • สำลีอดทนคำเยาะ สีนิลเสนาะคำยอ
  • อนาคตกำหนดเอง ไม่กลัวไม่เกรงอะไร


  • ทำงานสำลีทำงาน อยู่บ้านสีนิลอยู่บ้าน
  • ตากแดดสำลีตากแดด นอนแอร์สีนิลนอนแอร์
  • อนาคตกำหนดเอง บรรเลงจังหวะของตน


  • ตากแดดสำลีตากแดด สั่งงานแกะขาวกลางแดด
  • นอนแอร์สีนิลนอนแอร์ ลอกผิวผลัดขนจนขาว
  • สำลีตัวดำร่ำรวย สีนิลผิวสวยเคยรวย


  • เวลาผ่านเวียนหมุนเปลี่ยน ขาวกลับดำคล้ำกลับขาว
  • สีนิลออกบ้านหน้าเชิด ตะลึงพรึงเพริดทุกแกะ
  • ทั้งเมืองล้วนแต่แกะดำ ทำไมเจ้าขาวผิดแกะ
***********************************************
เรื่องราวของแกะขาว / แกะดำ ต้อนรับการกลับมาของ THE "MEngMORY" หลังจากหายไป 1 ครรภ์คน จะว่านี่คือ "สำลีกับสีนิล ภาค 2" ก็ว่าได้ อยากจะลองมองมุมเหม่ง ที่แกะขาวทำงานจนกลายเป็นแกะดำ และ แกะดำอยู่สบายจนกลายเป็นแกะขาว หักมุมสุดท้ายที่มันกลายเป็นแกะขาวตัวสุดท้ายในโลก ซึ่งทั้งแกะขาวก็ไม่แปลก แกะดำก็ไม่ผิด อยู่ที่การเลือกทางเดินชีวิตกับความสุขของใครของมัน

กลอน 6 คะเมน ก็ไม่มีนะครับ หนูๆ ทั้งหลายอย่าเอาไปอ้างอิงกับคุณครูภาษาไทยที่ไหนน้อ

ขอบคุณที่ยังติดตาม และคิดถึงกัน

THE "MEngMORY"